วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

6 วิธี เปลี่ยนความจำระยะสั้น เป็นความจำระยะยาว

         1. ทำความเข้าใจแทนการท่อง ก่อนสอบเป็นช่วงที่ทุกคนมัวแต่ท่องๆๆๆ เอาไปตอบข้อสอบ แต่ความจริงแล้วการสร้างความจำระยะยาวที่ดี ควรทำความเข้าใจในเนื้อหาว่าผลตรงนี้เกิดขึ้นได้จากอะไร เกิดได้อย่างไร คิดให้เป็นลำดับ ข้อมูลก็จะอยู่ในสมองนานกว่าการท่อง บางทีท่องแทบตายเดินชนเสาไฟฟ้าทีเดียว ก็วิ๊งๆ ลืมหมดแล้ว

        2.อ่านพร้อมเสียงหรือติวให้เพื่อน น้องๆ อาจจะอยากเถียงว่าอ่านออกเสียงจะดีกว่าอ่านเงียบๆ ยังไง แต่ พี่มิ้นท์ ขอยืนยัน นอนยันเลยว่าดีกว่าจริงๆ เพราะการอ่านออกเสียงได้ประโยชน์หลายเด้ง ตาก็ได้เห็นเนื้อหา แถมหูยังได้ยินเสียงที่ตัวเองอ่านอีก ซึ่งก็จะกระตุ้นความจำสมองได้ดี แต่ก็อย่าอ่านดังมากล่ะ เดี๋ยวคนอื่นจะแยกไม่ออกว่าอ่านหนังสือหรือบ้า ฮ่าๆ หรือการติวให้เพื่อนก็ทำให้เราแม่นเนื้อหามากยิ่งขึ้นเพราะคนเราจะสอนคนอื่นได้ก็ต้องเข้าใจก่อนและยังต้องหาวิธีเรียบเรียงสอนให้คนอื่นรู้เรื่องตามเราอีก นั่นแหละเราก็ได้ทบทวนไปในตัว ทีนี้ล่ะปึ้กๆ จำไปตลอดชีวิตชัวร์!

        3.สร้างสูตรเป็นของตนเอง การสร้างสูตรคือการทำเนื้อหาขนาดยาวที่มันจำยากมากๆ หรือสับสนมาสร้างเป็นสูตร ส่วนใหญ่ก็จะเอาพยางค์หรือคำแรกมาสร้างเป็นประโยค สูตรยอดนิยม เช่น สูตร “ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง” เชื่อว่าคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก จนแก่เอ้ย! จนป่านนี้แล้วก็ยังไม่ลืมกันเลย จริงมั้ย?




       4.กินอาหารที่มี DHA เพราะ DHA เป็นกรดที่สำคัญต่อสมอง และความจำมากทีเดียวเลยนะน้องๆ ส่วนใหญ่จะมีในอาหารประเภทปลา น้ำมันตับปลา หรือพวกวอลนัทนั่นเอง ถ้าไม่รีบกินระวังจะเป็นอัลไซเมอร์ตั้งแต่ยังไม่แก่นะจ๊ะ

       5.ออกกำลังสมอง ถ้าน้องๆ อยากให้ร่างกายแข็งแรงก็ต้องออกกำลังกาย อันนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าอยากให้สมองแข็งแรงมีความจำดีๆ ก็ต้องออกกำลังสมองบ้าง แต่ไม่ต้องถึงขนาดเอาหัวมาเดาะบอล เอาฮูลาฮุปมาหมุนรอบหัวนะ แค่หาเกมฝึกสมองมาเล่นบ้าง เช่น เกมซูโดกุ อักษรไขว้ เป็นต้น





      6.พักสมองบ้าง สุดท้ายถ้าสมองล้าเกิน ก็พักบ้างอะไรบ้าง จะนอนหลับ ฟังเพลงเบาๆ ก็ได้ ก่อนที่สมองมันจะระเบิด สั้นก็ไม่จำ ยาวก็ไม่จำ แล้วจะเศร้านะจะบอกให้







----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------